เมื่อเร็วๆ นี้ แผนกจิตเวชได้รับผู้ป่วยจำนวนมากที่คุณภาพการนอนหลับตกต่ำเพราะฝันมากเกินไป สาเหตุส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความกดดันจากการทำงานและการใช้ชีวิต ฉันจึงมักจะให้ผู้ป่วยจดบันทึกเนื้อหาความฝันของตัวเอง แล้วลองค้นหาแนวโน้มจากบันทึกเหล่านั้น เพื่อสัมผัสประสบการณ์ทางจิตที่ผู้ป่วยยากจะรู้ตัวผ่านความฝัน ซึ่งมีผลช่วยในการรักษาอยู่ระดับหนึ่ง
ฉันเคยได้ยินคำพูดที่ว่า "อุปมาของความฝันไร้ความหมาย"... พูดได้แค่ว่าฉันไม่เห็นด้วยกับมุมมองนี้ ในเมื่อมันสามารถปลุกเร้าความรู้สึก และโยกย้ายอารมณ์ของผู้ป่วยได้ อย่างน้อยก็อธิบายได้ว่ามันมีความสัมพันธ์บางอย่างกับความรู้สึกหรือประสบการณ์ของผู้ป่วย
แต่ความจริงแล้ว "อุปมาของความฝัน" คืออะไรกันแน่? ฉันอ่านข้อมูลมามากมาย ทว่าน่าเสียดายที่เอกสารจากโลกเก่าขาดหายไม่สมบูรณ์ ฉันจึงไม่พบคำตอบที่แน่ชัด แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในเอกสารมีพูดถึงความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างความฝันและความจริง กล่าวว่า: ในอดีตมีคนบางกลุ่มใช้ความฝันมาทำนายอนาคตของความจริง
"ความฝันมีลางบอกเหตุ" เรื่องนี้ทำให้ฉันสงสัยสุดๆ
ฉันคิดว่า ถ้าหากคนคนหนึ่งรู้สึกว่าสิ่งที่เขากำลังทำในขณะนั้นเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว แบบนี้เรียกว่าการเกิด "เดจาวู" ไม่ใช่ประสบการณ์ทางความฝัน แต่เป็นความรู้สึก "เหมือนฝัน" และภาพจำที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหล่านั้นก็ลึกลับซับซ้อนเหมือนกับการสร้างความฝันเลยทีเดียว
แต่มีความเป็นไปได้ของ "การแบ่งปันทางความฝัน" อยู่
ก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยคนหนึ่ง เธอเขียนบันทึกถึงพิธีกรรมในความฝันของตัวเอง จากที่ฉันรู้มา พิธีกรรมนี้เคยเกิดขึ้นในอดีตอันไกลโพ้นเท่านั้น คนรอบตัวของเธอไม่มีทางรู้แน่นอน และไม่มีใครไปบอกเธอด้วย แล้วเธอรู้ได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น ฉันคิดว่าความฝันพวกนี้สามารถรับเอาบทบาทและอิทธิพลจากคนอื่นมาได้ แต่ "การแบ่งปัน" แบบนี้มีพื้นฐานมาจากหลักการไหนกันแน่ เรื่องนี้ฉันก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน
แต่ฉันก็นึกได้ถึงเรื่องหนึ่ง บางทีอาจขะไม่เกี่ยวอะไรกับความฝันบอกเหตุ: ก่อนหน้านี้เคยมีผู้ป่วยมาถามฉันว่า "ในความฝันมีส่วนของความจริงอยู่ไหม" คำถามนี้ฉันให้คำตอบที่แน่ชัดไม่ได้ เพราะยังไงซะในความฝัน การรับรู้กับความทรงจำจะถูกผสมปนเปกัน จนยากจะแยกแยะได้แล้ว
พูดได้แค่ว่าเรื่องเกี่ยวกับความฝันนั้น พวกเรายังรู้น้อยเกินไป